วิธีทำให้ พนักงานมีความสุข และไม่คิดลาออกจากงาน

Oct 21, 2019

พนักงานมีความสุข กับ พนักงานมีความทุกข์ อ่านดูก็รู้ได้เลยว่า อันไหนดีกว่ากัน อารมณ์ Positive ต้องดีกว่า อารมณ์ Negative อยู่แล้ว ในเรื่องของการทำงาน ถ้าคนทำงาน มีความสุขในการทำงาน ก็เป็นผลดีกับพนักงาน ดีกับผลงาน และดีกับองค์กร ในทางตรงกันข้าม พนักงานมีความทุกข์ ผลเสียก็ตรงข้ามเลย นั่นไงความพินาศมาแล้ว

คำว่า พนักงานมีความสุข จะไม่เกิดขึ้นแน่ ถ้ามี 3 เหตุการณ์นี้

ความทุกข์มาเยือน การแก้ปัญหาที่คิดออก ณ ตอนนั้นคือ “การลาออกจากงาน” ซึ่งจะมีคนส่วนน้อยที่ไม่กล้าพูดตรงๆ กับ หัวหน้างาน ว่า ตอนนี้ฉันไม่มีความสุขในการทำงาน เพราะไม่อยากให้เกิดความขัดแย้งกับหัวหน้างาน เอาจริงๆ การคุยกันจะช่วยแก้ปัญหาได้ดีมาก และตรงจุดอีกด้วย เอาเป็นว่า ถ้ามี 3 เหตุการณ์นี้ อาจทำให้พนักงานไม่มีความสุขได้

พนักงานไม่มีความสุข เพราะ ขอขึ้นเงินเดือนไม่ได้ หรือ เงินเดือนน้อย 

พนักงานบางคนก็ทำงานหนัก และรู้สึกว่าเงินกับงานไม่สมดุลกัน เงินเดือนน้อย ขอขึ้นเงินเดือนทีไร ก็ไม่ยอมขึ้นเงินเดือนให้อีกต่างหาก ในมุมมองของหัวหน้าเอง ก็คงคิดแบบเดียวกันว่า ทำงานไม่เท่าเงินเลย หรือ มีปัจจัยอื่นที่ยังขึ้นให้ไม่ได้ สุดท้ายก็กลายเป็นปัญหาระหว่างหัวหน้ากับลูกน้อง

งานที่ทำไม่ตรงกับความถนัด  หรือ ได้ทำงานเกินขอบเขตตัวเอง

อ้าวเห้ย ไม่เหมือนที่คุยกันไว้นี่! ใน ประกาศสมัครงาน หรือ ตอนสัมภาษณ์งาน คุยกับดิบดีว่า หน้าที่ความรับผิดชอบ ขอบเขตของงานที่ตำแหน่ง มีสิ่งที่ต้องรับผิดชอบ คืออย่างนี้อย่างนั้น แจกจางรายละเอียดเป็นข้อๆ แต่พอทำงานจริงไม่เหมือนที่คุยกันไว้เลย รวมไปถึงงานที่ไม่ถนัดที่ได้รับมอบหมายอีกด้วย

การแก้ปัญหาที่ดีที่สุดคือ “การคุยกัน” นั่นแหละ บางทีงานที่ได้รับมอบหมายเพิ่มมา คือ การพัฒนาความสามารถ ฝึกการเรียนรู้ ความรับผิดชอบ ให้กับพนักงานในองค์กร ถ้าคือความหวังดีที่หัวหน้างานมอบให้ ก็ลองคุยกันตรงๆ ไปเลยว่า เจตนาแบบนี้ เพื่อให้เข้าใจอย่างตรงกัน เพราะสุดท้ายแล้วเดี๋ยวก็ ลาออกจากงาน อยู่ดีถ้าไม่ได้รับคำตอบที่เคลียร์ แต่ถ้างานเพิ่มขึ้น แล้วเงินเพิ่มขึ้นอีกสักนิดสักหน่อยก็จะแฟร์อยู่นะ

ความสัมพันธ์กับหัวหน้าไม่ดีเท่าที่ควร เลยไม่มีความสุขในการทำงาน

มันก็ต้องมีบ้างแหละที่ คนในทีม ลูกน้องในทีม จะไม่ชอบ หัวหน้าทีม ตัวเอง เพราะบางทีเขาก็สุดแสนจะงี่เง่า หรือบางที หัวหน้าก็ไม่อยากได้ลูกน้องคนนี้ แต่มันก็เลือกได้ซะที่ไหน พรหมลิขิตเอาไว้แบบนี้ ก็ต้องเป็นไปตามนี้ก่อนก็แล้วกัน

ไม่มีใครอยากอยู่กับคนที่ไม่ชอบขี้หน้า ไม่ชอบก็ไม่อยากคุย แต่ชีวิตในการทำงานเนี่ย มันต้องคุยกันนะ! ไม่คุยไม่ได้ ดังนั้น หันหน้าคุยกัน จับเข่าคุยดีกว่า ต่างคนต่างก็ปรับซึ่งกันและกัน อย่างน้อยให้การทำงานผ่านพ้นไปด้วยดี ปัญหานี้นี่มันน่าปวดหัวคนเป็นหัวหน้าก็คิดว่า หัวหน้าที่ดีเป็นยังไง ฝั่งลูกน้องก็ว่า ลูกน้องที่ดีต้องเป็นยังไง..

บอกต่อ วิธีทำให้ พนักงานมีความสุข และไม่ลาออกจากงาน

ไม่มีความสุขในการทำงาน เลยเลือกวิธีแก้ปัญหานี้ด้วย การลาออกจากงาน ส่วนตัวมองว่าทำถูกแล้ว ไม่จำเป็นต้องทน ทนแล้วได้อะไร! แต่ลองคุยๆ ดูก่อน หรือ หัวหน้างานก็เรียกคุยเลย แต่ถ้ายังไม่ได้รับการแก้ไข เอาช้างมาฉุดพนักงานคนนั้นก็คงไม่อยู่ เพื่อไม่ให้ประวัติศาสตร์ซ้ำรอย มาดู วิธีทำให้ พนักงานมีความสุข กันดีกว่า มีอะไรบ้างที่ หัวหน้างาน ทำได้!

ทีมเวิร์คที่ดี มาจากความสัมพันธ์ที่ดีที่มีต่อกันของเพื่อนร่วมทีม

การทำงานเป็นทีม หรือ ทีมเวิร์ค มันต้องดีกว่า ทำงานคนเดียวอยู่แล้ว เพราะต่างคนต่างก็มีความคิดที่หลากหลาย ถนัดกันไปคนละแบบ เมื่อนำทุกอย่างมารวมกัน ก็จะเป็นสุดยอดทีมเวิร์คที่จะปั้นชิ้นงานนั้นออกมาได้อย่างเยี่ยมยอด

ในทางกลับกัน ทีมเวิร์คไม่แข็งแกร่งก็บั่นทอนจิตใจคนทำงานได้  เพราะคนในทีมไม่เป็นทีม กระจัดกระจายไปทั่ว ทั้งหมดอาจเกิดจากการไม่ได้คุยกันก็ได้ ดังนั้น หัวหน้างาน ควรสร้างความสัมพันธ์ที่ดีให้กับคนในทีม เช่น ประชุม ระดมความคิด กินข้าวด้วยกัน วิธีเหล่านี้จะทำให้ได้คุยกันมากขึ้น และคำว่า “ไม่มีความสุข” จะหายไป

ลงทุนกับซอฟต์แวร์ อุปกรณ์ในการทำงาน ก็ทำให้พนักงานมีความสุขได้

อีกเหตุผลที่ทำให้ “งาน” ที่ออกมาไร้ประสิทธิภาพ คือ เครื่องมือในการทำงาน อุปกรณ์การทำงาน หากองค์กรไม่ลงทุนอะไรเลย งานที่ทำออกมาจะดีอย่างไร ยกตัวอย่าง ต้องถ่ายรูปอาหาร เพื่อขายอาหาร หากไม่มีกล้องถ่ายรูป ให้ใช้โทรศัพท์มือถือแทน ซึ่งมันก็ได้แหละ แต่กล้องถ่ายรูป น่าจะเป็นอุปกรณ์ที่ดีกว่าไหม

หรือซอฟต์แวร์ปลอม ที่ทำงานติดๆ ขัดๆ โปรแกรม Word , PowerPoint ใช้งานไม่ค่อยได้ ก่อให้เกิดความหงุดหงิดได้เหมือนกัน การทำงานล่าช้ากว่าเดิม ความเครียดของการทำงานตามมา เห็นไหม พนักงานไม่มีความสุขแน่นอน

มีอิสระในการทำงาน พร้อมรับฟังความคิดเห็นอย่างเท่าเทียม

ทุกคนควรมีอิสระในการทำงาน ไม่ถูกตีกรอบความคิด จริงๆ การจู้จี้จุกจิก ถือเป็นเรื่องดี เพราะคือความใส่ใจที่หัวหน้างานมอบให้ แต่บางทีก็ทำให้คิดงานไม่ออก เพราะรู้สึกกัดดันนี่แหละ  พอเมื่องานเสร็จ ผลลัพธ์ของงานอาจไม่เป็นอย่างที่ตั้งเป้าหมายเอาไว้ เพราะมีแต่ความเครียดระหว่างทำงาน ก็ทำงานแบบส่งๆ ให้เสร็จไปก็แล้วกัน

การให้อิสระในการทำงาน ให้พนักงานได้ทำงานแบบไร้กรอบความคิด แต่ไม่หลุดจากบรีฟ ต้องดีกว่าแน่ๆ นี่เป็นการสร้างความสุขในการทำงานได้ดีมากเลยทีเดียว เพราะในขณะทำงาน พนักงานในองค์กรจะสนุกกับงานที่ทำ โดยไม่มีใครมากวนใจ อีกทั้งเป็นการโชว์ความสามารถที่มีให้ได้เห็นอีกด้วย

อีกหนึ่งเรื่องที่ไม่ควรมองข้ามเลย คือ รับฟังความคิดเห็นอย่างเท่าเทียม จะมีบางกรณีที่ความคิดเห็นของคนในทีมถูกปัดตกไปดื้อๆ ทั้งที่ความคิดก็เป็นประโยชน์ต่อการทำงานด้วยซ้ำ เพียงเพราะว่า หัวหน้างาน ไม่รับฟังความคิดเห็นคนอื่น หรือรับฟังแต่ความคิดเห็นของคนที่สนิทเท่านั้น ดังนั้น คำว่า “พนักงานมีความสุข” ไม่มีอยู่จริงแน่

คำชม ชื่นชม ขอบคุณ เมื่อผลงานออกมาดีตามที่คาดหวัง

คำชม คือกำลังใจที่ดีสำหรับคนทำงาน ยิ่งคนเป็นหัวหน้างาน ชมออกมาจากปากตัวเอง คนที่ทำงานอย่างหนักก็รู้สึกมีกำลังใจในการทำงานต่อไปเรื่อยๆ นี่คือการแสดงออกอย่าชัดเจนว่า หัวหน้างาน กำลังชื่นชม และเห็นคุณค่าของทุกคนในการทำงาน แล้วลองมองอีกมุมที่หัวหน้างานไม่ตอบโต้อะไรเลย?

พนักงานคนนั้นๆ หรือทีมนั้นๆ ก็จะเข้าใจได้ว่า สิ่งที่ทำไม่ได้เตะตาใคร ไม่ได้มีความสำคัญอะไร ทำงานเสร็จแล้วก็จบไป การให้คำชม ชื่นชม และพูดขอบคุณที่ทำงานอย่างหนัก แม้เป็นคำพูดเบสิกที่ฟังได้บ่อยๆ แต่ก็คือคำพูดที่เป็นกำลังใจในการทำงานได้ดีเลยทีเดียว เป็นความใส่ใจเล็กๆ ที่สามารถซื้อใจพนักงานในองค์กรได้

พนักงานมีความสุข ส่วนหนึ่งมาจาก หัวหน้างาน นี่แหละ บางคนทำงานถวายหัวถวายใจให้กับบริษัท ดังนั้น เจ้านายเองก็ไม่ควรจะเพิกเฉยต่อความรู้สึกนี้ แม้การทำงานอย่างหนักจะมีเงินเป็นผลตอบแทนก็เถอนะ  แต่เรื่องเงินก็คือเรื่องเงิน ส่วนเรื่องใจก็คือเรื่องใจเหมือนกัน

Kinkhao (Thailand) Co., LTD.

Kinkhao (Thailand) Co.,Ltd. (Head Office)
790/19, 1st Floor, No.19,
Soi Sukhumvit 55 (Thonglor) Klongtan Nuea, Wattana, Bangkok 10110
Tax ID: 0105559120641

Chat with us: www.fb.com/kinkao.co
Sales: 089-779-8168
Customers Service: 083-702-4988
    Learn More
    About
    Our Services
    Menu
    Blog
    Close Bitnami banner
    Bitnami